Introduction

          มนุษย์และป่าไม้มีความเกี่ยวข้องกันตั้งแต่เริ่มวิวัฒนาการของมนุษยชาติ  พืชพรรณต่างๆ ถูกมนุษย์นำมาใช้เป็นปัจจัยสี่อันเป็นสิ่งจำเป็นต่อการดำรงชีวิต  ซึ่งได้แก่  อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัยและยารักษาโรค  มนุษย์นำพืชมาใช้ประโยชน์ในหลายรูปแบบแตกต่างกันไปตามสภาพสิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรมของกลุ่มชนแต่ละท้องถิ่น นอกจากการใช้ประโยชน์ในแง่ของปัจจัยสี่แล้ว  มนุษย์ยังนำพืชมาใช้ทางด้านพิธีกรรมทางศาสนา พิธีกรรมความเชื่อหรือนำมาใช้ในงานหัตถกรรมพื้นบ้าน  การใช้ประโยชน์จากพืชดังกล่าวนั้นได้ถูกถ่ายทอดไปยังรุ่นลูกรุ่นหลานจนกลายเป็นภูมิปัญญาชาวบ้านหรือภูมิปัญญาพื้นบ้าน (Traditional Knowledge หรือ   Folk Knowledge) (ธวัชชัย, 2539) [1] ซึ่งความรู้ดังกล่าวล้วนได้มาจากประสบการณ์ การสังเกต การลองผิดลองถูก และการดำรงชีวิตที่ใกล้ชิดและพึ่งพาธรรมชาติของบรรพบุรุษรุ่นก่อน  ที่มีการสั่งสมและพัฒนาองค์ความรู้ติดต่อกันมาเป็นเวลานาน  ภูมิปัญญาพื้นบ้านมักถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่นโดยการบอกเล่าด้วยวาจาหรืออาจจะมีการบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร  อย่างไรก็ตาม การเผยแพร่ดังกล่าวเป็นไปอย่างจำกัดเนื่องจากคนในยุคปัจจุบันมีการดำเนินชีวิตแบบสมัยใหม่ พึ่งพาเทคโนโลยีและเลียนแบบวัฒนธรรมตะวันตก ส่งผลให้ภูมิปัญญาพื้นบ้านถูกละเลยจนกระทั่งองค์ความรู้เหล่านั้นสูญหายไปพร้อมกับคนรุ่นเก่าและมีแนวโน้มว่าจะยิ่งสูญหายเพิ่มขึ้นอีกในอนาคต

          หมู่บ้านขุนตื่นน้อย เป็นหมู่บ้านหนึ่งในโครงการขยายผลโครงการหลวงเพื่อแก้ปัญหาพื้นที่ปลูกฝิ่นอย่างยั่งยืนบ้านขุนตื่นน้อย ตั้งอยู่ในตำบลแม่ตื่น อำเภออมก๋อย  จังหวัดเชียงใหม่ ประชากรที่อาศัยอยู่เป็นชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยง พื้นที่บ้านขุนตื่นน้อยตั้งอยู่ในบริเวณลุ่มน้ำแม่ตื่น ดำรงชีพโดยการทำการเกษตรและหาของป่า พืชหลักคือข้าวไร่และข้าวนาสำหรับบริโภคในครัวเรือน  ประชากรส่วนใหญ่มีฐานะยากจน  ไม่มีอาชีพที่สร้างรายได้ ประกอบกับพื้นที่อยู่ห่างไกล  เส้นทางคมนาคมไม่สะดวกโดยเฉพาะในฤดูฝนจะมีปัญหาในเรื่องการเดินทางเพื่อติดต่อด้านต่างๆ จากภายนอก โดยเฉพาะการเดินทางเมื่อเจ็บป่วย จำเป็นต้องเข้าไปรักษาที่สถานีอนามัยหรือโรงพยาบาลซึ่งอยู่ไกล  ทำให้การเดินทางเป็นไปอย่างยากลำบาก  คนในชุมชนจึงต้องรักษาโรคเมื่อเจ็บป่วยด้วยสมุนไพรพื้นบ้าน โดยใช้ฐานความรู้จากภูมิปัญญาพื้นบ้านที่สืบทอดกันมาจากบรรพบุรุษ  แต่ผู้รู้ส่วนใหญ่มีอายุมากและไม่มีการรวบรวมองค์ความรู้ไว้เป็นเอกสารชัดเจน  ประกอบกับคนรุ่นหลังน้อยคนจะสนใจสืบทอดและเรียนรู้ตลอดจนการพัฒนาต่อยอดองค์ความรู้และภูมิปัญญาพื้นบ้านเหล่านั้น (ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยอำเภออมก๋อย สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยจังหวัดเชียงใหม่, 2556) [2]

          ในปัจจุบันโลกและสังคมมีการเปลี่ยนแปลงไปหลายประการ มีการพัฒนาทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ทำให้เกิดความรู้ใหม่ๆ เพิ่มมากขึ้น ชาวเขาที่มีถิ่นที่อยู่อาศัยอยู่บนพื้นที่สูง นอกจากผู้นำชุมชนหรือผู้นำครอบครัวที่ต้องลงมาติดต่อกับคนไทยพื้นราบในด้านต่างๆ แล้ว ปัจจุบันชาวเขายังนิยมส่งบุตรหลานลงมารับการศึกษาจากโรงเรียนในพื้นราบซึ่งมีการเรียนการสอนที่ดีกว่าแหล่งการศึกษาในชุมชน  ทำให้ชาวเขารุ่นใหม่ได้ซึมซับเอาวัฒนธรรมของคนเมืองไปใช้ในชีวิตประจำวัน เมื่อความเจริญก้าวหน้าแพร่กระจายไป  ความรู้ซึ่งเป็นภูมิปัญญาพื้นบ้านที่มีอยู่ก็ถูกลบลืมไปพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงจากสังคมชีวิตชนบทไปเป็นสังคมเมือง การศึกษาครั้งนี้จึงมุ่งเน้นศึกษาองค์ความรู้ทางพฤกษศาสตร์พื้นบ้านและความแตกต่างขององค์ความรู้นั้นในประชากรชาย-หญิงแต่ละช่วงอายุของชาวกะเหรี่ยงบ้านขุนตื่นน้อย  ตลอดจนพืชท้องถิ่นที่มีศักยภาพที่จะสามารถนำไปศึกษาและพัฒนาให้เกิดเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่เพื่อส่งเสริมรายได้แก่ชุมชนต่อไป

                                        


References

Scratchpads developed and conceived by (alphabetical): Ed Baker, Katherine Bouton Alice Heaton Dimitris Koureas, Laurence Livermore, Dave Roberts, Simon Rycroft, Ben Scott, Vince Smith